ปราสาทบันทายศรี (Banteay Srei)

     ปราสาทบันทายศรี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชา ที่มีความสวยงามจากหินสีชมพูและการแกะสลักนูน ปราสาทแห่งนี้สร้างเมื่อตอนปลายสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน ในปัจจุบันปราสาทแห่งนี้เป็นที่เลื่องลือกันอย่างกว้างขวางถึงความสวยสดงดงามไม่แพ้ปราสาทอื่นๆในกัมพูชา หากได้มาเยือนประเทศกัมพูชาแล้วต้องไม่พลาดมาชมปราสาทนี้ โดยปราสาทบันทายศรีอยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมราฐไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และจะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเสียมราฐ 

ภาพจาก : https://www.yingpook.com/5-best-of-cambodia/

    ประวัติของปราสาทบันทายศรีตามจารึกได้กล่าวไว้ว่า ปราสาทแห่งนี้นั้นสร้างใน พ.ศ 1510 โดยพราหมณ์นักปราชญ์นามว่า ยัชญวรหะ ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระชัยวรมันที่ 5 ที่ยังทรงพระเยาว์ในการขึ้นครองราชหลังจากพระราเชนทรวรมันที่ 2 สวรรคต และยังเป็นพระราชครูแก่พระองค์ไปพร้อมๆกัน ซึ่งการสร้างปราสาทของพราหมณ์ยัชญวรหะนั้น สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะและเป็นศูนย์รวมจิตใจของราชฎร ภายใต้พระนามว่า ตรีภูวนมเหศวร หรือ เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งสาม เพราะฉะนั้นการสร้างประสาทบันทายศรีจึงเป็นการสร้างปราสาทบนเนินเตี้ย และยอดปราสาทไม่สูง เพื่อไม่ให้เกิดการเทียบเคียงกับปราสาทที่สร้างขึ้นโดยกษัติย์

    ลักษณะทางศิลปกรรมของปราสาทบันทายศรีเป็นการนำลวดลายเก่ามาประดิษฐ์เป็นแบบใหม่ จึงมีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวแบบฝีมือช่างมากกว่าศิลปะ นักวิชาการของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ จึงกำหนดให้เป็นศิลปะแบบทันทายศรี ซึ่งปราสาทจะสร้างขึ้นบนเนินเตี้ย ยอดปราสาทไม่สูง โดยสร้างขึ้นจากหินทรายที่มีสีชมพู เนื้อละเอียด พร้อมแกะสลักลวดลายแบบนูนอย่างประณีตสวยงาม การแกะสลักลวดลายจะเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนาฮินดู ไศวนิกาย หรือเรียกง่ายๆว่า การบูชาพระศิวะนั่นเอง                      

ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=448

    ทับหลัง เป็นชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรม โดยจะอยู่ที่กรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังในปราสาทบันทายศรีจะมีลักษณะมาจากศิลปะเกาะแกร์ผสมกับศิลปะพระโค คือการทำภาพเล่าเรื่องอยู่ตรงกึ่งกลางของทับหลัง และมีพวงมาลัยโค้งลงมาอยู่ด้านล่าง มีการทำลายใบไม้ให้ตั้งขึ้น อีกทั้งทำใบไม้ห้อยลงตาม และทำอุบะแทรกอยู่ในส่วนของใบไม้ที่ห้อยลงมาอีกด้วย

ภาพจาก : http://artsofcombodia.blogspot.com/2017/10/blog-post_31.html

    โคปุระตะวันออก หน้าบันจะเป็นรูปแกะสลักของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และลวดลายเป็นรูปไม้เลื้อย ปลายพวงมาลัยเป็นรูปพญานาค ลวดลายแกะสลักหินคมชัดแต่นิ่มนวลคล้ายงานแกะสลักไม้ 

ภาพจาก : https://www.thefirstultimate.com/travel/The-Wonders-of-BanteaySrei

    ปราสาทบันทายศรี มีกลุ่มปราสาทประธานทั้งหมด 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปยังทิศตะวันออก องค์ปราสาทเรียงตัวกันในแนวนอนเหนือใต้ ปราสาทองค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุดและมีการทำมณฑลยื่นออกไปด้านหน้า องค์ปราสาทก่อสร้างด้วยหินทรายทั้งหลัง ฐานรองรับกลุ่มปราสาทประธานเป็นฐานบัว 1 ฐาน และด้านทิศตะวันตกนี้มีบันไดทางขึ้นอยู่ตำแหน่งเดียวกันกับปราสาทประธาน และมีทวารบาลนั่งเฝ้าอยู่

ภาพจาก : https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=nontree&month=01-2008&date=28&group=12&gblog=45

    หน้าบันนี้ เป็นรูปแกะสลักของพระศิวนาฏราชที่กำลังร่ายรำ โดยการร่ายรำของพระศิวะนั้นอยู่อยู่ถึง 108 ท่า จนเป็นต้นตำราทางนาฏยศาสตร์ การร่ายรำของพระศิวะต้องใช้เหล่าทวยเทพมาเล่นดนตรีให้จังหวะ โคนนทิคอยตีตะโพน พระนารายณ์ตีกลอง พระพรหมตีฉิ่ง พระอินทร์เป่าขลุ่ย พระสรัสวดีดีดพิณ แล้วให้พระลักษมีเป็นผู้ขับร้อง ซึ่งเชื่อกันว่าการร่ายรำของพระศิวะมีผลกระทบต่อโลก หากร่ายรำด้วยจังหวะช้าๆ เนิบๆ โลกจะอยู่เย็นเป็นสุข

ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=469

    ทับหลังนี้จะเป็นภาพแกะสลักรูปพระกฤษณะปราบพระยากงส์ ซึ่งหน้าบันมีลักษณะยืดสูงเป็นทรงสามเหลี่ยม มีกรอบซุ้มโค้งสวยงาม ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปนาคหลายเศียรตามแบบหน้าบันในสมัยพระนครตอนปลาย พร้อมเล่าเรื่องราว โดยบุคคลที่อยู่ด้านบนคือพระกฤษณะที่เป็นอวตารของพระวิษณุ ส่วนบุคคลที่ถูกฉีกร่างคาดว่าเป็นพระยากงส์ เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่พระยากงส์ได้วางแผนสังหารพระกฤษณะ แต่ในที่สุดพระกฤษณะก็สามารถปราบพระยากงส์ได้

ภาพจาก : http://www.adirexphotogallery.com/index.php?lay=show&ac=photo_view&event_id=13325

    โคปุระตะวันตก หน้าบันจะเป็นรูปแกะสลักภาพวานรที่กำลังต่อสู้กันอยู่กลางภาพ ซึ่งเป็นภาพของพาลีที่รบกับสุคีพ ส่วนบุคคลด้านขวาของมุมภาพ อยู่ในลักษณะแผลงศรคือ พระรามที่แผลงสรเพื่อปราบพาลี โดยมีพระลักษมีนั่งอยู่ด้านข้าง จากรูปแบบที่ปรากฎสามารถกำหนดอายุว่าน่าจะอยู่ในศิลปะบันทายศรี ราวช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16

    ปราสาทบันทายศรีเป็นปราสาทแห่งหนึ่งของประเทศกัมพูชาที่มีเอกลักษณ์งดงามแห่งหนึ่ง มีการนำลวดลายแบบเก่ามาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้สวยงามและลงตัวในแบบปราสาทบันทายศรี ทั้งองค์ประกอบของปราสาท การสร้างด้วยหินทรายสีชมพูเนื้อเนียนละเอียด การแกะสลักภาพเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาอย่างประณีตสวยงาม ส่งผลให้ปราสาทบันทายศรีเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเสน่ห์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือนและมาสัมผัสกับแหล่งอารยธรรมแห่งนี้ที่เป็นอีกหนึ่งมรดกอันล้ำค่าของประเทศกัมพูชา 


    อ้างอิง
        กวิฎ ตั้งจรัสวงค์. (มปป). หน้าบันรูปพาลีรบสุคีพที่โคปุระด้านทิศตะวันออกของปราสาทบันทายศรี. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563, จากเว็ปไซต์ : http://art-in-sea.com/th/data/cambodia-art/ 
        เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). หน้าบัน สลักภาพเล่าเรื่องตอนพระกฤษณะปราบพระยากงส์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=469
        เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). ทับหลัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=448
        สปิริต ออฟ เดอะ เวิลด์. (2562). ปราสาทบันทายศรี "ถ้าไม่ไปถือว่ามาไม่ถึง". สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sprtour.com/ 
        โอเชี่ยนสไมล์. (มปป). ปราสาทบันทายศรี. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563, จากเว็ปไซต์ : http://www.oceansmile.com/KHM/Buntaysari.htm
        อภิรักษ์ กาญจนคงตา. (2562). ปราสาทบันทายสรี. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563, จากเว็ปไซต์ : http://huexonline.com/knowledge/31/240/
        

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปราสาทโพกลวงการาย (Po Klaung Garai)

การกำหนดอายุสมัยทางโบราณคดีจากวงปีไม้

วัดพนม เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา (Wat Phnom)