วัดเชียงทอง ( Xieng Thong Temple )

    วัดเชียงทอง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในหลวงพระบางและได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่มีความงดงามที่สุดในประเทศลาว ซึ่งที่แห่งนี้มี สิม หรือ อุโบสถ ที่เป็นหัวใจสำคัญของวัด ซึ่งเป็นสิมแบบล้านช้างที่มีความสมบูรณ์แบบที่สุด วัดเชียงทองแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหลวงพระบาง ประเทศลาว

ภาพจาก : https://www.thaifly.com/index.php?route=news%2Fnews&news_id=875&fbclid=IwAR2MHWVyp8W9G2ZgjiK9_i75i4iW3DeLB8wy5Xby0PkWTS0z-EEIrXRenEA

    วัดเชียงทอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2103 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนาและล้านช้าง ก่อนที่พระองค์จะย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางไปยังนครเวียงจันทร์ ซึ่งวัดแห่งนี้ถือได้ว่าเป็น วัดประตูเมือง และท่าเทียบเรือด้านเหนือสำหรับการเสด็จประพาสทางน้ำของกษัตริย์ ทำให้วัดเชียงทองได้รับการอุปถัมภ์เป็นอย่างดี และยังเป็นวัดแห่งเดียวที่ไม่ถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำที่บุกปล้นเมืองหลวงพระบาง ใน พ.ศ. 2428 โดยสิ่งก่อสร้างสำคัญต่างๆ ยังอยู่ครบและสมบูรณ์

    ความสำคัญของวัดแห่งนี้คือ สิม ที่เป็นหัวใจของวัดเชียงทอง และมีความเป็นล้านช้างอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด มีความอ่อนช้อยและสวยงาม ได้รับการยกย่องและขนานนามจากนักโบราณคดีว่าเป็น อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง ที่งดงามที่สุดในประเทศลาว

ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=228&fbclid=IwAR2F0e6hgRDb4dDwIeoPu3Wkd5Dk2eORSh-uQJ-UK5O-LiOR9UWX-uup4fM

    สิมวัดเชียงทอง ถือเป็นตัวอย่างอาคารในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางที่สำคัญที่สุด ลักษณะสำคัญของสิมในสกุลช่างนี้ก็คือ แผนผังอยู่ในผังเพิ่มมุมด้านหน้า ซึ่งแผนผนังดังกล่าวอาจทำให้เกิดประตูทั้งด้านหน้าและด้านข้าง หลังคามีกรอบหน้าบันที่อ่อนโค้ง แผ่ลงเกือบจรดพื้น หน้าบันประกอบด้วยม้าต่างไหมและใช้โก่งคิ้วประดับด้านล่างของหน้าบัน สิมแบบหลวงพระบางนี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกับอาคารในศิลปะล้านนา

ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=229

    ช่อฟ้าวัดเชียงทอง บนสันหลังคาปรากฏ "ช่อฟ้า" หรือเขาพระสุเมรุจำลอง สื่อให้เห็นว่าสิมเป็นศูนย์กลางจักรวาล ช่อฟ้าประกอบด้วยเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยเสาสัตตบริภัณฑ์จำนวน 7 ลูก ซึ่งมีความสูงลดหลั่นกัน ที่ขอบปรากฏเขาจักรวาล ด้านล่างปรากฏปลาอันแทนมหาสมุทร เขาพระสุเมรุในลักษณะนี้ปรากฏในจิตรกรรมเสมอทั้งในศิลปะพม่าและศิลปะไทย ซึ่งคงจะเป็นต้นแบบให้กับช่อฟ้าในศิลปะล้านช้าง

ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=230

    ซุ้มประตูสิมวัดเชียงทอง สำหรับผนังด้านหน้าแต่นี้ปรากฏลายคำเป็นรูปเทวดากำลังไหว้เจดีย์ ซึ่งน่าจะหมายถึงเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซุ้มประตูของสิมมีลักษณะตามแบบล้านช้าง ซึ่งมีลักษณะหลายประการร่วมกับศิลปะล้านนา คือ เสาซุ้มประดับด้วยลวดลายสามจุด กาบบน กาบล่าง ประจำยามอก ยอดปราสาทปรากฏหลังคาลาดขนาดใหญ่ 1 ชั้น ซ้อนด้วยชั้นเชิงบาตรขึ้นไปอีกหลายชั้น

ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=231

    โรงเมี้ยนโกศวัดเชียงทอง 
สร้างขึ้นในรัชกาลเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ เพื่อใช้เก็บโกศและพระราชรถ สำหรับอัญเชิญพระโกศ ทำให้ผนังด้านหน้าจึงประกอบด้วยแผ่นไม้จำนวนมากเพื่อการถอดและประกอบได้ แผงด้านหน้ามีภาพสลักเรื่องรามเกียรติ์หลายเรื่อง เช่น เรื่องนางสีดาลุยไฟ เรื่องพระรามรบกับยักษ์ เรื่องทศกัณฑ์สู้กับนกชดายุและเรื่องทศกัณฑ์ล้ม เป็นต้น ภาพสลักเหล่านี้สลักขึ้นโดย "เพียตัน" ซึ่งเป็นช่างในราชสำนักในสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 โดยช่างผู้นี้มีลักษณะเฉพาะที่ต่อมาจะกลายเป็นสกุลช่างของศิลปะลาวปัจจุบันคือ มีการสลักตัวละครให้มีปริมาตรกลมกลึงตามอย่างสัจนิยม แต่สวมเครื่องละครตามแบบประเพณี และภาพสลักอยู่ท่ามกลางลายกนกซึ่งทำให้ภาพไม่มีพื้นที่ว่างเปล่า

ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=340

    ต้นไม้กระจกประดับสีด้านหลังสิมวัดเชียงทอง การประดับกระจกบนผนังเป็นที่นิยมในการตกแต่งผนังภายนอกอาคารในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางราวพุทธศตวรรษที่ 25 การตกแต่งแบบนี้ปรากฏกับอาคารหลายหลังที่วัดเชียงทอง กระจกนอกให้ความแวววาวเมื่อกระทบกับแสงแดดและยังคงทนต่อสภาพอากาศกว่าการเขียนจิตรกรรมหรือลายคำ ด้วยเหตุนี้เทคนิคดังกล่าวจึงมักใช้กับการตกแต่งภายนอกอาคาร

ภาพจาก : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=342

    เจดีย์จุฬามณี ลายคำประดับผนังด้านในสิมวัดเชียงทอง เป็นศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางราวพุทธศตวรรษที่ 25 การตกแต่งลายคำได้รับความนิยมอย่างมาก โดยส่วนมากมักประดับภายในอาคาร โดยผนังด้านหน้าวัดเชียงทอง มีการประดับภาพเหล่าเทวดากำลังบูชาพระเจดีย์จุฬามณี

    วัดเชียงทองเป็นวัดที่มีความเก่าแก่ งดงาม และทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมแห่งหนึ่งของประเทศลาว มีการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยลวดลายการแกะสลักต่างๆ ที่มีความเป็นล้านช้างอย่างสมบูรณ์ ถือเป็นอีกสถานที่แห่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การมาเยือนสักครั้งหากมาที่ประเทศลาว สถานที่ที่ถูกยกย่องว่าเป็น อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง  ณ วัดเชียงทอง



    อ้างอิง

        เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). สิมวัดเชียงทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=228.

        เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). ช่อฟ้าวัดเชียงทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=229.

        เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). ซุ้มประตูสิมวัดเชียงทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=230.

        เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). โรงเมี้ยนโกศวัดเชียงทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=231.

        เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). ต้นไม้กระจกประดับสีด้านหลังสิมวัดเชียงทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=340.

        เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2558). เจดีย์จุฬามณี ลายคำประดับผนังด้านในสิมวัดเชียงทอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563, จากเว็ปไซต์ : https://www.sac.or.th/databases/seaarts/th/detail.php?tb_id=342.

        โอเชี่ยนสไมล์. (มปป.). วัดเชียงทอง หลวงพระบาง "อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง". สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563, จากเว็ปไซต์ : http://www.oceansmile.com/Lao/ChaingtongWat.htm?fbclid=IwAR1czNodt5xcnSR7NGdj_rdjUNXV6SmcumzsZ3TJFwmkFmeZNy13lk2QdEk.

        Palanla. (2563). วัดเชียงทอง สุดยอดอัญมณีศิลปะล้านช้างในหลวงพระบาง ประเทศลาว. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563, จากเว็บไซต์ : https://palanla.com/index.php?op=abroadLocation-detail&id=188&fbclid=IwAR1_hIh-Ns43OUhQtNNRQy3QTPCfQiGgiikVqeeec25DPn8Daw-geHAnJno.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปราสาทโพกลวงการาย (Po Klaung Garai)

การกำหนดอายุสมัยทางโบราณคดีจากวงปีไม้

Hi There!